การฟอกสีฟัน (Tooth Whitening) เป็นเปลี่ยนสีฟันธรรมชาติให้สว่างขึ้น โดยไม่มีการทำลายผิวฟันด้วยการกรอฟัน หรือกัดกร่อนเนื้อฟันใดๆ ทั้งสิ้น การฟอกสีฟัน ทำได้โดยการใช้น้ำยา ที่เป็นสารจำพวก ไฮโดรเจน เพอร์ออกไซต์ (Hydrogen Peroxide) หรือ คาร์บาไมด์ เพอร์ออกไซด์ (Carbamide Peroxide) ไปทำปฏิกิริยากับผิวฟัน ทำให้สีที่สะสม คราบและแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในเนื้อฟันหลุดออกไป สีของฟันจึงขาวขึ้น

ประเภทของการฟอกสีฟัน

  1. การฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ในคลินิก (In-office Power Bleaching)

ซึ่งเป็นวิธีการฟอกสีฟันที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะแม้ว่าสารฟอกสีฟันที่ใช้จะมีความเข้มข้นสูง แต่ทัตนแพทย์จะควบคุมการทำงานของเจลให้พอดีพอเหมาะกับลักษณะฟันของแต่ละคน โดยการฟอกสีฟันชนิดนี้จะแยกย่อยตามลักษณ์ของแสงที่นำมาใช้กระตุ้นเจลฟอกสีฟัน ดังนี้

  • ระบบเลเซอร์ โดยจะเป็นการใช้แสงเลเซอร์เป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาของเจล โดยแสงเลเซอร์จะถูกปล่อยในช่วงเวลาสั้นๆ ครั้ง 15 วินาที เพื่อลดอาการเสียวฟัน พลังแสงที่ให้จะมีประสิทธิภาพสูงแต่ให้ความร้อนต่ำๆ รวมแล้วใช้เวลาในการทำทั้งหมด 45 นาที ฟันจะขาวขึ้นหลายเฉดตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ
  • ระบบแสงเย็น ซึ่งเป็นการใช้ LED-Cool Light ซึ่งเป็นแสงสีฟ้าที่มีความนุ่มนวล ถูกปล่อยออกมาให้มีลักษณะโค้งไปตามการเรียงตัวของฟัน เพื่อการกระจายของแสงอย่างทั่วถึง ซึ่งกระตุ้นให้เจลทำงานได้ดี และไม่มีความร้อนเกิดขึ้น ไม่ทำให้เกิดอาการเสียวฟันน้อย ใช้เวลาทำราว 1 ชั่วโมง และเห็นผลตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำเช่นกัน
  1. การฟอกสีฟันเองที่บ้านแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของทันตแพทย์ (At-home Bleaching)

โดยคนไข้จะต้องมาทำถาดฟอกสีฟันเฉพาะบุคคลที่คลินิก เริ่มจากต้องมาพิมพ์ปากกับทันตแพทย์ จากนั้นจะได้รับเจลที่ใช้ฟอกสีฟันจะมีความเข้มข้นต่ำกลับไปทำเองที่บ้าน โดยจะใช้งานรวมกับถาดเฉพาะบุคคล ใช้ระยะเวลาทำอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ด้วยการใส่ถาดทุกวันเวลานอนประมาณ 6 ชั่วโมง

  1. การฟอกสีฟันที่ทำเองโดยไม่อยู่ในความดูแลของแพทย์ (Over –the-counter Bleaching)

ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟันที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป อาทิ ชุดฟอกสีฟัน, แถบฟอกสีฟัน, ยาสีฟันที่มีสารฟอกสีฟัน ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถทำให้ฟันขาวได้เช่นกัน แต่อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าการฟอกสีฟันที่ควบคุมโดยทันตแพทย์ เพราะถึงแม้จะใช้สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เหมือนกัน แต่ก็เป็นแบบความเข้มข้นต่ำ

  1. การฟอกสีฟันในฟันที่เปลี่ยนสีเนื่องจากฟันตาย (Internal Bleaching)

ฟันที่เปลี่ยนสีเนื่องจากฟันตาย คือฟันที่มีลักษณะเป็นสีเทา ดำ เป็นฟันที่ไม่มีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยง ซึ่งมักเกิดจากฟันผุจนทะลุถึงโพรงประสาท หรือฟันที่ถูกการกระทบกระแทกแรงๆ จากอุบัติเหตุ โดยส่วนใหญ่จะเปลี่ยนสีเฉพาะซี่ ซึ่งทันตแพทย์สามารถรักษาโดยการฟอกสีฟันเฉพาะซี่ได้ ด้วยการการใส่สารฟอกสีฟันเข้าไปในตัวฟัน แล้วใช้วัสดุอุดฟันชั่วคราวปิดช่องเอาไว้ จากนั้นทันตแพทย์จะนัดมาเพื่อดูการเปลี่ยนสีของฟัน หากฟันยังมีสีคล้ำไม่เป็นที่น่าพอใจ ทันตแพทย์จะเปลี่ยนสารฟอกสีฟันเข้าไปใหม่ จนกว่าจะได้สีฟันที่ต้องการแล้วจึงทำการอุดปิดช่องด้วยวัสดุอุดฟันถาวร

ขั้นตอนการฟอกสีฟัน

  1. ตรวจสุขภาพฟันโดยรวม อาจมีการขูดหินปูนหรือขัดฟัน เพื่อทำความสะอาดฟัน
  2. เทียบเฉดสีของฟันก่อนที่จะได้รับการฟอกสีฟัน เพื่อดูว่าฟันของเราเหลืองอยู่ที่เฉดที่เท่าไหร่
  3. ใส่เครื่องป้องกันเหงือก และสวมแว่นตาพิเศษเพื่อป้องกันสายตา
  4. เป่าฟันให้แห้ง และทันตแพทย์จะเริ่มทาเจลฟอกสีฟันลงบนฟันของคนไข้
  5. ฉายแสงจากเครื่องฟอกสีฟัน ไปยังเจล เพื่อกระตุ้นปฏิกิริยาของน้ำยาฟอกสีฟัน
  6. ปล่อยน้ำยาฟอกสีฟันทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที
  7. เมื่อครบกำหนดเวลา ถอดเครื่องมือป้องกันออกแล้วทันตแพทย์จะทำการล้างทำความสะอาดฟัน
  8. เทียบสีของฟันเพื่อให้คนไข้เห็นถึงความแตกต่างของฟัน

ข้อดีของการฟอกสีฟัน

การฟอกสีฟัน สามารถทำให้ฟันขาวได้จริง และขาวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ทำอันตรายต่อเนื้อฟัน ไม่ต้องกรอฟัน ไม่ต้องสูญเสียเนื้อฟัน และมีความปลอดภัยสำหรับการรักษาโดยทันตแพทย์ที่คลินิก นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความมั่นใจ เพิ่มเสน่ห์ในรอยยิ้มให้แก่คนไข้อีกด้วย

ข้อเสียของการฟอกสีฟัน

มักจะเกิดอาการเสียวฟันในบางราย ซึ่งจะมีอาการน้อยและมากแตกต่างกัน ไม่ว่าจะการเสียวฟันจากอุณหภูมิ การสัมผัส หรือแรงกดต่างๆ บางรายอาจมีอาการเสียวฟันมากจนรู้สึกปวดจี๊ดๆ เพราะอาจมีภาวะเหงือกร่นรวมด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อาการเสียวฟันเหล่านี้จะหายได้เองในระยะ 2-3 วันแรก แต่ควรใช้ยาสีฟันสำหรับผู้มีอาการเสียวฟันและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่เย็นจัด ร้อนจัด และมีความเป็นกรดสูง

 

การฟอกสีฟัน คือตัวช่วยสำคัญที่สามารถทำให้ฟันขาวได้อย่างรวดเร็ว และมีความปลอดภัยหากอยู่ในความดูแลของทันตแพทย์ นอกจากนี้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน ยังช่วยให้นวัตกรรมการฟอกสีฟันมีประสิทธิภาพและลดอาการข้างเคียงลงไปได้อย่างมาก