การรักษารากฟัน เป็นกระบวนการรักษาฟันที่มีการติดเชื้อภายในโพรงประสาทฟันและคลองรากฟัน ด้วยการกำจัดเนื้อเยื่อที่อักเสบ หนองและสิ่งสกปรกต่างๆ โดยไม่ต้องถอนฟันทิ้ง สามารถเก็บรักษาฟันเอาไว้ใช้งานได้ ต้นเหตุของการรักษารากฟันส่วนใหญ่เกิดจากฟันที่ผุแต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ปล่อยทิ้งไว้จนกระทั้งโรคฟันลุกลามทำลายถึงชั้นโพรงประสาทฟัน การรักษารากฟันมีขั้นตอนการรักษาที่ค่อนข้างยุ่งและและซับซ้อน คนไข้ต้องมาพบทันตแพทย์หลายครั้ง

สาเหตุของโพรงประสาทฟันถูกทำลาย

โพรงประสาทฟันและคลองรากฟันนั้น เป็นช่องว่างทางกายภาพที่อยู่ภายในฟัน ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของเส้นเลือด เส้นประสาท เนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆ ที่มาเลี้ยงฟันซี่นั้นๆ เมื่อโพรงประสาทติดเชื่อหรือว่าตาย ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้นานๆ ไม่ทำการรักษา จะมีฝีหนองก่อตัวขึ้นที่ปลายรากฟันในกระดูกขากรรไกร ซึ่งสามารถทำลายกระดูกรอบๆ ฟันและทำให้เกิดอาการปวด โดยมีสาเหตุหลักๆ คือ ฟันแตก, ฟันผุอย่างรุนแรง, การกระแทกของฟัน แต่สำหรับฟันแตกที่เหลือเนื้อฟันอยู่น้อยไม่สามารถบูรณะได้

สัญญาณเตือนที่จะต้องได้รับการรักษารากฟัน

อาการเตือนบางครั้งก็ไม่ปรากฏออกมาชัดเจน แต่ส่วนใหญ่แล้วคนไข้มักจะมีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง เมื่อเกิดแรงกดขณะบดเคี้ยว, เมื่อรับประทานอาหารที่เย็นหรือร้อนจัด จะเกิดอาการเสียวฟันหรือปวดฟันเป็นเวลานานกว่าปกติ, การเปลี่ยนสีของฟันเป็นสีดำ, เหงือกบริเวณใกล้เคียงบวมหรืออ่อนตัวลง อาการเหล่านี้เป็นอาการเบื้องต้นของการอักเสบของโพรงประสาทฟันและคลองรากฟัน เมื่อเกิดขึ้นกับเราแล้วไม่ควรปล่อยไว้นาน ต้องรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูอาการทันที

วิธีการรักษา

  1. การรักษารากฟันแบบธรรมดา

ทันตแพทย์จะกำจัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้ออักเสบในโพรงประสาทฟันและคลองรากฟันออก แล้วทำความสะอาดและตกแต่งคลองรากฟันด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีลักษณะคล้ายตะไบอันเล็กๆ จากนั้นจะทำความสะอาดอีกครั้งและใส่ยาฆ่าเชื้อ แล้วอุดคลองรากฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องทำซ้ำหลายครั้ง จนกว่าไม่มีอาการอักเสบ หนองแห้ง และแน่ใจว่าสามารถกำจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกตกค้างออกไปได้หมด โดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลา 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ เมื่อไม่มีการอักเสบของรากฟันแล้ว ทันตแพทย์จะอุดปิดคลองรากฟันถาวร แล้วทำการบูรณะฟันเพื่อให้ฟันกลับมาใช้งานได้ดังเดิม โดยการบูรณะฟันนั้นก็สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การอุดฟัน, ครอบฟัน, การใส่เดือยฟัน ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพฟันที่เหลืออยู่ด้วย

  1. การผ่าตัดปลายรากฟัน

หากปัญหาการอักเสบของโพรงประสาทมีอาการรุนแรง หลังการรักษารากฟันแบบธรรมดาแล้ว ยังมีอาการปวด เหงือกบวมหรือมีหนอง แสดงว่าการรักษาในข้างต้นล้มเหลว แพทย์จำเป็นต้องรื้อวัสดุเก่าออก และทำการรักษารากฟันใหม่ ด้วยการศัลยกรรมปลายรากฟันร่วมด้วย

อาการข้างเคียงของการรักษารากฟัน

โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

  • การปวดระหว่างการรักษา ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากรักษารากฟันครั้งแรก จะมีอาการปวดหรือกำลังเริ่มอักเสบ แต่จะไม่ค่อยเกิดขึ้นในฟันที่ตายแล้วหรือฟันที่มีตุ่มหนอง
  • การปวดหลังการรักษา ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น คลองรากฟันยังไม่สะอาดแล้วอุด ขยายคลองรากฟันไม่หมดหรือฟันแตก ซึ่งอาจต้องมีการรื้อรักษาใหม่ หรืออาจต้องผ่าตัดปลายรากฟันร่วมด้วย แต่หากรักษาไม่ได้จริงๆ อาจจะต้องถอดฟัน

การปฏิบัติตัวหลังรักษารากฟัน

  • อาจมีอาการปวดหรือเสียวฟันเล็กน้อยหลังจากการรักษารากฟันใหม่ๆ โดยจะมีอาการเจ็บอยู่ 2-3 วันแรก โดยสามารถทานยาแก้ปวดได้ แล้วอาการจะค่อยๆ หายไปเอง
  • ระมัดระวังในการใช้งานฟันซี่ที่อยู่ในขั้นตอนการรักษา เนื่องจากปริมาณเนื้อฟันเหลือน้อยลงฟันจะเปราะมากขึ้น รวมทั้งการอุดฟันในระหว่างรักษาเป็นการอุดเพียงชั่วคราว หากเกิดปัญหาวัสดุหลุดออกจากฟัน ให้รีบกลับไปพบแพทย์ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันนัด เนื่องจากเชื้อโรคในช่องปากอาจเข้าสู่คลองรากฟันได้
  • หากมีอาการปวดฟันซี่ที่อยู่ในระหว่างรักษาอย่างมากและนานเกินกว่า 2 วัน หรือมีอาการบวมมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • การรักษารากฟันเป็นการรักษาที่ต่อเนื่อง หากคนไข้ไม่มาตามวันนัด ฟันซี่นั้นก็อาจจะเสียและต้องถูกถอนออกไปได้

อายุของการรักษารากฟัน

เมื่อได้รับการรับการรักษารากฟันแล้วฟันซี่นั้นจะมีอายุการใช้งานได้ตลอดชีวิต ถ้ามีการดูแลที่เหมาะสม เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตามฟันผุสามารถเกิดขึ้นได้อีกในฟันที่ได้รับการรักษารากฟันแล้ว ดังนั้นสุขภาพอนามัยช่องปากเป็นสิ่งจำเป็น รวมทั้งการพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

การรักษารากฟัน จึงเป็นทันตกรรมทางเลือกที่ช่วยให้คนไข้รักษาฟันเอาไว้ใช้งานได้ต่อไป เพราะฟันที่รักษารากฟันแล้วจะเหมือนฟันที่อยู่ในปากปกติ และให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการใส่ฟันปลอม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะรักษารากฟัน แพทย์ต้องใช้ความเชียวชาญและประสบการณ์สูง รวมทั้งวินัยของคนไข้ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้การรักษาราฟันประสบผลสำเร็จ