การอุดฟัน เป็นการบูรณะรักษาฟันที่สูญเสียเนื้อฟันให้กลับมาใช้งานได้และกลับมามีรูปทรงดังเดิม รวมทั้งยังสามารถช่วยป้องกันการผุเพิ่มขึ้นด้วยการปิดช่องทางที่แบคทีเรียสามารถเข้าไปได้ วิธีการอุดฟันนั้น ทันตแพทย์จะทำการกำจัดเนื้อเยื่อที่ผุออกและทำความสะอาด และแต่งรูปร่างให้เหมาะสม จากนั้นจะเติมวัสดุอุดฟันลงไป นอกจากนี้แล้ว การอุดฟัน ไม่ได้รักษาเฉพาะฟันที่ถูกทำลายจากการผุเท่านั้น แต่ยังอุดฟันเพื่อความสวยงาม อาทิ ฟันหน้าที่มีช่องว่างหรือฟันที่มีรูปร่างเล็กกว่าปกติ
วัสดุที่นำมาใช้
การเลือกว่าจะใช้วัสดุไหนในการอุดฟัน ต้องขึ้นอยู่กับบริเวณที่จะทำการอุดฟันและขอบเขตการผุของฟันเป็นหลัก รวมทั้งต้องคำนึงถึงการแพ้วัสดุบางชนิดของแต่ละบุคคลด้วย โดยวัสดุที่นำมาใช้อุดฟันมีหลายประเภท ดังนี้
- ทอง (Gold) เป็นการอุดฟันที่มีราคาแพง แต่มีอายุการใช้งานถึง 20 ปี และไม่ค่อยระคาเคืองต่อเหงือก ซึ่งจะต้องทำให้ห้องปฏิบัติการและต้องใช้เวลามาพบทันตแพทย์หลายครั้ง
- วัสดุอมัลกัม (Amaigam) ซึ่งเป็นโลหะผสมระหว่างปรอทผสมเงินและทองแดง จึงทำให้เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงคงทนเพราะมีโลหะเป็นส่วนผสม เหมาะสำหรับการอุดฟันกรามที่ต้องรองรับแรงบดเคี้ยว แต่เป็นวัสดุที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน จึงไม่ถูกใช้กับบริเวณฟันหน้า เมื่อใช้ไปนานๆ มักจะมีสีคล้ำขึ้น การอุดฟันวิธีนี้ทันตแพทย์ต้องกรอฟันค่อนข้างมากเพื่อให้วัสดุยึดติดได้ เพราะวัสดุอมัลกัมนั้นไม่สามารถยึดติดกับฟันเองได้ ทำให้คนไข้ต้องสูญเสียเนื้อฟันไปมากเมื่อเทียบกับการอุดฟันประเภทอื่น แต่ข้อดีของการอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม คือมีราคาถูกและมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก แต่หลังจากอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัมแล้ว ห้ามใช้ฟันที่อุดเคี้ยวอาหาร เพราะต้องรอให้วัสดุแข็งตัวก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง
- คอมโพสิตเรซิน (Composite resin) ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ชนิดหนึ่งที่สามารถแต่งรูปได้ง่าย เป็นวัสดุที่ให้สีที่เหมือนกับฟัน มีให้เลือกหลายเฉดสี ใช้อุดได้ทั้งฟันหน้าและฟันหลัก โดยส่วนใหญ่ใช้ในบริเวณที่ต้องการความสวยงามและความเป็นธรรมชาติ โดยหลังจากกรอฟันตบแต่งส่วนที่ผุออกแล้ว ทันตแพทย์จะเตรียมและใส่คอมโพสิตเรซินอุดฟันโดยตรง แล้วฉายแสงจากเครื่องฉายแสงทางทันตกรรมเพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้วัสดุแข็งตัว โดยต้องอาศัยสารยึดติดช่วยให้คอมโพสิตเรซินติดกับฟัน แต่การอุดฟันประเภทนี้จะไม่สามารถใช้อุดฟันบริเวณกว้างมากนั้น เพราะอายุการใช้งานของคอมโพสิตเรซินน้อยกว่าวัสดุอมัลกัม และมีราคาแพงกว่า แต่มีข้อดีตรงที่การกรอเนื้อฟันจะน้อยกว่าวัสดุอมัลกัม และสามารถเลือกสีให้ตรงตามสีฟันของแต่ละบุคคล จึงเหมาะกับการอุดฟันที่ต้องการความสวยงาม
- กลาสไอโอโนเมอร์ ซีเมนต์ (Glass ionomercement) เป็นวัสดุอุดฟันที่มีคุณสมบัติในการยึดเกาะโครงสร้างของฟันได้ดี สามารถปล่อยฟลูออไรด์ออกมาเพื่อช่วยป้องกันโรคฟันผุได้ รวมทั้งยังเป็นวัสดุที่ไม่มีผลเสียต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก ให้สีที่เหมือนฟัน แต่มีข้อเสียเรื่องความทนทานและไม่สามารถรับแรงบดเคี้ยวหนักๆ ได้
- เรซินมอดิฟายด์กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ (Resin Modified Glass-Ionomer Cement) เป็นวัสดุผสมระหว่างแก้ว กรดอินทรีย์ และเรซินโพลิเมอร์ ที่ต้องฉายแสงลงไปถึงจะแข็งตัว มีสีคล้ายเนื้อฟัน
- คอมโพเมอร์ (Compomer) เป็นวัสดุที่ได้จากการนำคอมโพสิตและกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์มารวมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการอุดฟัน ซึ่งวิธีจะให้สีที่คล้ายเนื้อฟันและยังสามารถปล่อยฟลูออไรด์ออกมาได้ด้วย
- พอร์ชเลน (Porcelain) หรือที่เรียกว่า อินเลย์ หรือ ออนเลย์ โดยเป็นการอุดฟันในกรณีที่ฟันมีการผุหรือแตกขนาดใหญ่ ซึ่งวัสดุอุดฟันปกติไม่แข็งแรงพอจะทำได้ โดยเป็นการสร้างชิ้นงานจากห้องแล็บ แล้วนำชิ้นงานมายึดกับฟันที่มีการกรอแต่งไว้ สามารถทำสีให้เข้ากับสีฟันของคนไข้ได้ และมีความทนทานต่อคราบ โดยความแตกต่างระหว่าง อินเลย์ และ ออนเลย์ คือ
อินเลย์ ใช้สำหรับฟันที่มีรอยผุหรือความผิดปกติภายในขอบเขตด้านการบดเคี้ยวของฟัน
ออนเลย์ ใช้สำหรับฟันที่มีรอยผุหรือความผิดปกติที่กินบริเวณมากกว่า 1 ด้าน
ส่วนวัสดุที่นำมาใช้ อินเลย์หรือออนเลย์ มีให้เลือกหลากหลาย อาทิ โลหะที่มีส่วนผสมของทองในเปอร์เซ็นต์ที่สูง, วัสดุสีเหมือนกันประเภทเรซินคอมโพสิท และเซรามิก ดังนั้นการทำอินเลย์หรือออนเลย์จึงมีราคาที่สูงกว่าการอุดฟันปกติ เพราะมีความทนทานต่อคราบได้ดี และมักจะครอบคลุมเนื้อที่ฟันส่วนใหญ่ด้วย
การดูแลรักษาหลังได้รับการอุดฟัน
หลังจากอุดฟันแล้ว คนไข้ต้องดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากตามพื้นฐานปกติ ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้น้ำยาบ้วนปากและไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและขุดหินปูนเป็นประจำทุก 6 เดือน หากเกิดอาการเสียวฟันหรือปวดฟัน หรือมีการแตกหลุดของวัสดุที่อุดฟัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
การอุดฟัน จึงเป็นการบูรณะฟันให้อยู่ในรูปร่างลักษณะที่ดีและสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ ในบางครั้งยังเป็นการแก้ไขให้ฟันสวยงามกว่าเดิมด้วย